เอกลักษณ์ (อ่านว่า เอก-กะ-ลัก) หมายถึงลักษณะเฉพาะตัว ลักษณะที่เหมือนกันหรือมีร่วมกัน หรือลักษณะที่แสดงความเป็นอย่างเดียวกันของคนในสังคมหนึ่งๆ ซึ่งแตกต่างจากลักษณะร่วมของคนในสังคมอื่น เช่น คนไทยมีเอกลักษณ์เป็นคนสนุกสนาน ให้อภัยง่าย ลืมง่าย รักอิสระ รักศักดิ์ศรี เป็นต้น ลักษณะนี้ถือเป็นลักษณะรวมๆของคนไทยโดยทั่วไปที่แตกต่างจากคนชาติอื่น แต่คนไทยแต่ละคนก็มีเอกลักษณ์ของตนเองที่อาจจะไม่เหมือนคนอื่นด้วย การใช้คำว่าเอกลักษณ์จึงต้องเข้าใจว่าจะใช้ในระดับใด เอกลักษณ์ของใคร คำว่าเอกลักษณ์ บัญญัติให้ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า identity เช่น คณะอนุกรรมการเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการชุดนี้มองหาลักษณะเฉพาะของชาติไทยในด้านความเป็นชาติ ประชากร อธิปไตยของชาติ การปกครอง ศาสนา พระมหากษัตริย์ วัฒนธรรม และเกียรติภูมิของชาติ แล้วนำมาเผยแพร่เพื่อส่งเสริมให้เห็นคุณค่าและร่วมมือกันอนุรักษ์ไว้
อัตลักษณ์ (อ่านว่า อัด-ตะ-ลัก) ประกอบด้วยคำว่า อัต กับคำว่า ลักษณ์ อัต มาจากคำว่า อตฺต แปลว่า ตน ตัวเอง อัตลักษณ์ จึงแปลว่า ลักษณะของตนเอง ลักษณะของตัวเอง เป็นศัพท์ที่คณะกรรมการบัญญัติศัพท์ของราชบัณฑิตยสถานได้บัญญัติให้ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า character เป็นลักษณะเฉพาะของบุคคลซึ่งรวมสติปัญญา คุณธรรม จริยธรรม ความประพฤติที่แสดงออกเป็นลักษณะนิสัยของบุคคลนั้น แต่ปัจจับัน มีการนำคำว่าอัตลักษณ์ไปใช้แทนคำว่า ตน ตัว เช่น หนังสือเรื่องนี้ปรากฏอัตลักษณ์ของนักเขียนแจ่มแจ้งทีเดียว ครูควรช่วยนักเรียนให้พัฒนาอัตลักษณ์ของเขาได้อย่างเหมาะสม หรือใช้ อัตลักษณ์เพื่อแทนคำว่า เอกลักษณ์ คำทั้งสองคำนี้อาจจะดูมีความหมายใกล้เคียงกันมาก แต่มีลักษณะเน้นต่างกัน อัตลักษณ์เน้นลักษณะทั้งหมดของบุคคลโดยไม่ได้เปรียบเทียบกับใคร ส่วนเอกลักษณ์เน้นลักษณะที่เป็นหนึ่ง ลักษณะที่โดดเด่นซึ่งเป็นส่วนที่แยกบุคคลนั้นออกจากบุคคลอื่น
ข้อมูลจาก เว็บไซต์ http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetailsql.asp?stcolumnid=3275&stissueid=2606&stcolcatid=2&stauthorid=19
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น